วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

[บทความ] พระสารีบุตร...ผู้สำเร็จเป็น "พระอรหันต์...ในวันมาฆบูชา"


พระสารีบุตร...ผู้สำเร็จเป็น "พระอรหันต์...ในวันมาฆบูชา"


วันพรุ่งนี้...จะเป็นวันสำคัญของพวกเราชาวพุทธคือ "วันมาฆบูชา" เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ...เนื่องจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา เป็นการแสดงปาติโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ ๔ เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต"

และในวันเดียวกันนี้ก็เป็นวันที่ "พระสารีบุตร"ระอัครสาวกเบื้องขวาผู้เลิศทางด้านปัญญาของพระพุทธเจ้า....ได้สำเร็จเป็น "พระอรหันต์" ในขณะที่ท่านกำลังถวายงานพัดให้แก่พระพุทธองค์...ณ ถ้ำสุกรขาตา เชิงเขาคิชกูฏ นครราชคฤห์


ประวัติน่าสนใจของ "พระสารีบุตร"

"พระสารีบุตร" ผู้เป็น "พระอัครสาวกเบื้องขวา" ของพระพุทธเจ้า ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า "เป็นเลิศกว่าพระภิกษุทั้งปวงในด้านสติปัญญา" เมื่อแรกเกิดมีชื่อว่า "อุปติสสะ" ท่านเกิดวันเดียวกันกับสหายของท่านคือ "โกลิตะ" ซึ่งต่อมาคือ "พระมหาโมคคัลลานะ" ผู้เป็น "พระอัครสาวกเบื้องซ้าย" ของพระพุทธเจ้า ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า "เป็นเลิศกว่าพระภิกษุทั้งปวงในด้านผู้มีฤทธิ์มาก"

บรรลุโสดาบันและบวชในพระพุทธศาสนา..."พระอัสสชิ" อันเป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์วันหนึ่งท่านถือบาตรและจีวร ไปสู่กรุงราชคฤห์...เพื่อบิณฑบาต "อุปติสสะ" ได้พบพระอัสสชิเถระ ประทับใจในอิริยาบถน่าเลื่อมใส สำรวมดี ของท่านพระอัสสชิเถระ ผู้มีอินทรีย์ฝึกดีแล้ว

จึงเกิดความคิดว่า "ท่านผู้นี้จักเป็นพระอรหันต์" จึงได้เดินตามหลังพระอัสสชิเถระและสอบถามพระอัสสชิเถระในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับคำสอนของพระศาสดา พระอัสสชิจึงได้กล่าวคำสอนของพระพุทธองค์ว่า...

"พระพุทธองค์ท่านกล่าวบทอันลึกซึ้งละเอียดทุกอย่าง...เป็นเครื่องฆ่าลูกศร คือ ตัณหา เป็นเครื่องบรรเทาความทุกข์ทั้งมวล ว่าธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้า ตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะเจ้ามีปกติตรัสอย่างนี้"

เมื่ออุปติสสะได้ฟังก็ได้บรรลุโสดาบัน

หลังจากนั้น...อุปติสสะกราบลาพระอัสสชิเถระ แล้วนำธรรมะที่ได้รับฟังมา ไปบอกเพื่อนสนิทคือโกลิตะ จนได้บรรลุโสดาบัน เช่นเดียวกัน ทั้งสองได้ไปชวนสัญชัยปริพาชก ให้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ "สัญชัยปริพาชก" ปฏิเสธทั้งสองจึงได้พาปริพาชก ๒๕๐ คน ไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์ หลังจากฟังธรรมครั้งนั้น...ปริพาชก ๒๕๐ คนบรรลุเป็น "พระอรหันต์"...แต่อุปติสสะและโกลิตะ ยังคงบรรลุเพียง "โสดาบัน" เช่นเดิม ในครั้งนั้น...พระพุทธเจ้าทรงบวชให้แก่คนทั้งหมดด้วยวิธี "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" ภายหลังบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว "อุปติสสะ" จึงมีชื่อเรียกใหม่ว่า "สารีบุตร" และ "โกลิตะ" จึงมีชื่อใหม่ว่า "โมคคัลลานะ"




"พระสารีบุตร" สำเร็จเป็น "พระอรหันต์" ในขณะที่ท่านกำลังถวายงานพัดให้แก่พระพุทธองค์อยู่นั้นพระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรมเกี่ยวกับ "ทิฏฐิและเวทนา" ให้กับทีฆนขปริพาชก...พระสารีบุตรก็ได้ฟังธรรมเหล่านั้นด้วยจึงทำให้..."พระสารีบุตร" ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์...และ..."ทีฆนขปริพาชก" ได้บรรลุโสดาบัน...ซึ่งวันนั้นคือ "วันเพ็ญเดือนมาฆะ" หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ...ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร ให้กับพระอรหันต์ ๑.๒๕๐ รูป (บริวารของพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ๒๕๐ รูปและบริวาลของชฎิล ๓ พี่น้อง ๑.๐๐๐ รูป)


ธรรมบรรยายของ...พระสารีบุตร

พระสารีบุตรได้แสดงธรรมอันลึกซึ้ง ปรากฏอยู่มากมายในพระไตรปิฎก เช่น

คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑
สังคีติสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑
ทสุตตรสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑
ตอนท้ายของธรรมทายาทสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒
อนังคณสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒
สัมมาทิฏฐิสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒
มหาหัตถิปโทปมสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒
ธนัญชานิสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓
ฉันโนวาทสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔
ชัมพุขาทกสังยุตต์ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘


บั้นปลายชีวิตของ "พระสารีบุตร"

พระสารีบุตรนั้น "นิพพาน"...ก่อนพระพุทธเจ้า...แต่ก่อนที่ท่านจะละสังขารเข้าสู่นิพพาน...ท่านพิจารณาเห็นว่า สมควรที่จะนิพพานในห้องที่ตนเองคลอดจากท้องมารดา เมื่อคิดเช่นนั้นจึงเข้าไปกราบทูลสมเด็จพระบรมศาสดา แล้วเดินทางไปกับพระจุนทะผู้น้องชายพร้อมด้วยบริวาร

เมื่อไปถึงบ้านเดิมแล้วก็เกิด "ปักขันทิกาพาธ" คือ "โรคท้องร่วง" ขึ้นในคืนนั้น ในเวลาที่ท่านกำลังอาพาธอยู่นั้น...ก็ได้เทศนาโปรด "มารดา" จนได้บรรลุ "พระโสดาบัน" พอเวลาใกล้รุ่งของคืนเพ็ญเดือน ๑๒ ท่านก็ดับขันธ์นิพพาน พระจุนทะผู้น้องชายก็ได้ร่วมกับญาติทำฌาปนกิจสรีระของท่านในวันรุ่งขึ้น...แล้วเก็บอัฐิธาตุนำไปถวายพระบรมศาสดา...ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในเมืองสาวัตถี

พระพุทธองค์โปรดให้ก่อเจดีย์ บรรจุอัฐิธาตุของพระสารีบุตรเถระไว้ ณ พระเชตวันมหาวิหาร...เอวัง...ก็มีด้วยประการละฉะนี้แล...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น