วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

[ตอบปัญหาธรรม] ระลึกถึงบุญที่ทำแล้ว...ได้บุญเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่?


ระลึกถึงบุญที่ทำแล้ว...ได้บุญเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่?


ถาม ~  มีคำกล่าวว่า... ผู้ที่เคยทำบุญทำกุศลแม้เพียงครั้งเดียว เพราะฐานะยากจน แต่ระลึกถึงเสมอ และระลึกครั้งใดก็เกิดความปิติโสมนัสในกุศลของตนเสมอ ความปลาบปลื้มใจโดยอาศัยการระลึกถึงกุศลของตนนี้ ได้ชื่อว่าเป็น "กุศลอาจิณณกรรม" แสดงว่า ถ้าเราทำบุญกุศลไว้ พอนานวันเรากลับมานึกถึงบุญกุศลที่เราทำไว้ จะทำให้เราได้บุญกุศลเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่...อย่างไร?

         
ตอบ ~  คนที่ทำบุญแล้วระลึกถึงบุญที่ตนทำมาบ่อยๆ ระลึกแล้วก็ "ปิติโสมนัส" ในการกระทำนั้น บุญก็เกิดอีกแน่นอน เพราะฉะนั้น
ในสมถกรรมฐาน...ว่าด้วย "อนุสสติ ๑๐" มี

พุทธานุสสติ ๑ 
ธัมมานุสสติ ๑ 
สังฆานุสสติ ๑ 
สีลานุสสติ ๑ 
จาคานุสสติ ๑ 
เทวตานุสสติ ๑ 
มรณสติ หรือมรณานุสสติ ๑ 
กายคตาสติ ๑ 
อานาปานสติ ๑ 
และอุปสมานุสสติ ๑
          
ในอนุสสติเหล่านั้น... ท่านจะเห็นว่าเราสามารถจะระลึกถึงศีลที่เรารักษาดีแล้วได้บ่อยๆ นึกถึงทานที่เราบริจาคดีแล้วได้บ่อยๆ เพื่อให้จิตใจสงบเป็นสมาธิได้ ศีลที่เรารักษาแล้วก็เป็นบุญกุศลที่เราสามารถระลึกถึงได้บ่อยๆ เพื่อให้เกิดสมาธิจัดไว้ในข้อ "สีลานุสสติ"
         
ส่วนทานการบริจาคที่เราทำแล้วก็เช่นเดียวกัน เราสามารถจะระลึกได้บ่อยๆ จนจิตสงบเกิดสมาธิ จัดไว้ในข้อ "จาคานุสสติ" เพราะฉะนั้นบุญกุศลที่เราทำแล้ว เมื่อเราระลึกถึงอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ก็ย่อมเกิดกุศลเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่ต้องเป็นการระลึกถึงด้วยความปิติโสมนัสในการกระทำนั้น
         
หากเป็นการนึกถึงด้วยความโทมนัสเสียใจ เป็นต้นว่า เสียดายของที่บริจาคไปแล้ว หรือมารู้ว่าผู้รับทุศีลก็เสียใจ ถ้าอย่างนี้ก็มีแต่ "อกุศล" เกิดเพียงอย่างเดียว 

อีกประการหนึ่ง ในการทำบุญให้ทานเป็นต้นนั้น ผลของบุญที่ทำแล้วจะเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ก็เพราะท่านตั้งเจตนาไว้ดีแล้วใน ๓ กาล คือ
       
๑. ในกาลก่อนที่จะให้ทำหรือทำ เรียกว่า "บุพเจตนา" ดี
         
๒. ในเวลากำลังให้ก็มีใจยินดีหรือในขณะทำกุศลก็มีใจยินดี เรียกว่า "มุญจนเจตนา" ดี
        
๓. ทำแล้วระลึกขึ้นมาก็ยินดี เรียกว่า "อปรเจตนา" ดี หรือแม้ทำแล้วนานๆ ระลึกถึงก็ยังยินดี เรียกว่า "อปราปรเจตนา" ดี ซึ่งทั้งอปรเจตนาหรืออปราปรเจตนานี้ ก็รวมไว้ในเจตนาครั้งหลัง คือ หลังจากทำแล้วก็ระลึกถึงด้วยความยินดี การที่เราระลึกถึงบุญกุศลที่ทำแล้วด้วยความปิติยินดีนี้ จึงจัดอยู่ในเจตนาครั้งหลังนี้
         
สรุป...ถ้าทำได้ครบทั้ง ๓ กาลเช่นนี้ กุศลของท่านย่อมถึงความไพบูลย์แน่นอน

(อ้างอิง : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ข้อที่ ๒๘๑ เรื่อง "มหานามสูตร")

         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น