วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

[เรื่องเล่าจากประสบการณ์จริง] "พระบังบด...ภูเขาควาย"


 "พระบังบด...ภูเขาควาย"

เล่าเรื่องโดย "คุณหญิงสุวรรณี สิงห์สมบูรณ์ พัวไพโรจน์"


"พระบังบด" คือ พระที่มีฌาณและมีวิชาแบบผู้สำเร็จที่จะทำให้อายุยืน เพื่อจะคอยพบพระพุทธเจ้าพระองค์ข้างหน้า , เพื่อฟังธรรมและตรัสรู้ธรรมเป็นพระอรหันต์ในยุคนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงซึ่งเล่าจากประสบการณ์ตรงของ "คุณหญิงสุวรรณี สิงห์สมบูรณ์ พัวไพโรจน์" เรื่องมีดังนี้คือ...

วันหนึ่ง ดิฉันเอาอาหารไปถวายเพลที่ "วัดเชียงยืน" ซึ่งขณะนั้นมีศาลาไม้เก่าแก่มาก ดิฉันเรียนหลวงพ่อเจ้าอาวาสว่า “สายไฟระโยงระเยง ระวังไฟไหม้นะเจ้าคะ”

ด้วยห่วงเกรงว่าศาลานั้นจะถูกไฟไหม้ วันรุ่งขึ้น ที่ศาลาไม้นั้นเกิดไฟไหม้จริงๆ เหลือไว้แต่โบสถ์ พระท่านบอกว่า “โอ๊ย ! ปากพระร่วงแท้” พระหนีหมดเหลือแต่สังฆาฏิ พระลูกวัดกางเต้นอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ส่วนตัวเจ้าอาวาสอยู่ในโบสถ์ ทางวัดได้รับความลำบาก บุญดี มีผู้รับเหมาใจดีจ่ายให้ก่อนทั้งหมด แล้วให้ทางวัดผ่อนใช้ทีหลัง ทางวัดทอดกฐิน 3 ปี ก็ใช้หนี้หมด

วันทอดกฐินครั้งสุดท้าย ดิฉันสร้างบุญเสร็จมานั่งรอรถกลับบ้านระหว่างรอรถ เห็นผู้เฒ่าคนหนึ่ง ผมยาวนุ่งห่มจีวรคล้าย ๆ พระภิกษุ แต่จีวรเก่ามาก ขาดรุ่งริ่ง ดิฉันเห็นเข้าก็รู้สึกสงสาร เลยเรียกท่าน กินข้าว ในใจก็คิดว่า... ลุงคนนี้คงเป็นคนเสียสติ...

ดิฉันจึงเอาข้าวให้ท่านกิน ท่านก็เอาไม้เท้าแตะ ๆ แล้วท่านก็พูดว่า “ได้แล้ว ได้แล้ว” แต่ก็ไม่เห็นท่านกิน ดิฉันเห็นจีวรท่านเก่า ก็เลยสั่งลูกน้องที่เป็นผู้ชาย ให้ช่วยเอาจีวรใหม่เปลี่ยนให้ท่าน แต่ท่านไม่ยอม พวกลูกน้องก็ช่วยกันเปลี่ยนจนเสร็จจนได้ ดิฉันเลยให้เอาจีวรเก่าท่านไปซัก แปลกมากค่ะ ระหว่างตากจีวร ทั้งลมทั้งแดดเปรี้ยงเลย ไม่ถึง 20 นาที ก็แห้งสนิท ก็พับมาคืนท่าน ท่านเปลี่ยนจีวรเก่าของท่านทันที

ท่านบอก ท่านมีแล้ว แล้วท่านก็พับจีวรใหม่เปลี่ยนคืนมาให้ โดยพับอย่างดีสวยเนี้ยบ เหมือนเดิมเลย ท่านดีใจที่ได้จีวรเก่า ยิ้มแต้เลย ท่านว่า “เอาไว้ให้คนที่จำเป็นต้องใช้”

น่าอัศจรรย์จริง ๆ ไม่นานนัก ลูกได้พบหญิงชราผู้หนึ่ง ซึ่งมานวดให้ลูก ได้เล่าให้ลูกฟังว่า ลูกชายกำลังจะบวช ยังไม่มีเงินซื้อผ้าไตรจีวรเลย ดิฉันจึงได้มอบผ้าจีวรผืนนี้ให้แก่หญิงนั้น เขาดีใจมากขอบใจลูกเป็นการใหญ่ ดิฉันรู้สึกอัศจรรย์ในคำพูดของพระผู้เฒ่าอย่างยิ่ง ราวกับว่า ท่านจะรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าเลยค่ะ

ดิฉันให้คนรถขับรถไปส่ง ท่านก็ไม่เอา ต่อมาดิฉันได้เล่าเรื่องนี้ให้ "หลวงปู่พินโพธิ์" ฟัง ท่านว่า “ลูกมีบุญแท้ นั้นแหละคือ..."หลวงปู่พูสี"...อายุประมาณ 400 ปี เป็น 1 ใน 6 องค์ ของ...พระบังบด...ที่เหลืออยู่

พอฟังอย่างนี้ ก็ตกใจเลยคิดในใจว่า อยากพบท่านเหลือเกิน อยาก "ขอขมา" ท่าน พยายามเหลือเกิน 2 ปี ไม่เคยเจอท่านเลย

วันหนึ่ง... เกิดความว้าวุ่นใจมาก ขณะนั้นดิฉันอยู่ที่ประเทศลาวเกิดอยากจะไปสระผม ที่ร้านสระผม พอดีเห็นหลวงปู่ ที่ดิฉันได้พบในครั้งแรก ที่ลักษณะของท่าน จะมีผมยาวจีวรขาดรุ่งริ่ง พอเห็นเลยรีบลงจากรถตรงไปที่ท่าน แล้วก็ก้มลงกราบ กราบเสร็จดิฉันก็กวาดสายตาไปรอบ ๆ เห็นหลาย ๆ คนก็หันมามองดิฉัน

ดิฉันก็คิดในใจว่า เอ๊ะ! หรือว่าเราจะเห็นท่านอยู่คนเดียว พอดีมีผู้หญิงอีกคนเอาผ้าสไบปูลงกับพื้นแล้วกราบท่าน ดิฉันก็เลยได้กราบเรียนท่านไปว่า

"ขอนิมนต์ท่านเข้าไปในร้านทำผมก่อน ท่านก็ไม่เข้า ก็ได้ทราบว่าถ้าบ้านมีลักษณะ 2 ชั้น ท่านจะไม่เดินลอดเข้าบ้านหลังนั้น ก็เลยคุยกับท่านต่อว่า พรุ่งนี้สิบโมง จะขอนัดท่าน มาถวายเพลที่ออฟฟิตได้ไหมค่ะ"

ท่านบอกได้... เสร็จท่านก็จะกลับ ดิฉันเลยให้คนรถไปส่งท่าน ท่านบอกจะกลับเอง พรุ่งนี้ก็จะมาเอง แต่ดิฉันไม่ยอม จึงให้คนรถขับไปส่งท่านจนได้ ดิฉันก็เข้าไปทำผมในร้านได้สักพัก

คนขับรถก็วิ่งมาหาในร้านด้วยความตกใจว่า ได้ขับรถไปส่งหลวงปู่ แล้วระหว่างทางเป็นป่า ไม่มีบ้านคน ท่านก็ขอลง ก็จอดให้ท่านลง คนขับก็ลงไปเปิดประตูให้ท่านลง แล้วก็เดินกลับมานั่งที่เบาะคนขับ แล้วหันกลับไปมองหลวงปู่ ปรากฏว่าไม่เห็นร่องรอยของท่านเลย หายไปอย่างรวดเร็ว จนคนรถคิดเองด้วยความกลัวว่า ท่านเป็นผีหรือเปล่า

ดิฉันจึงบอกคนขับรถไปว่า นั่นไม่ใช่ผีแต่เป็น "พระบังบด" เขาดีใจใหญ่ ที่ได้ไปส่งท่าน วันรุ่งขึ้นสิบโมงตรงเป๊ะ ท่านมายืนอยู่ที่หน้าออฟฟิต ก็อาราธนาท่านมารับภัตตาหาร ท่านก็ทำเหมือนเดิม คือเอาไม้เท้าแตะๆ แล้วบอกว่า “ได้แล้ว ได้แล้ว เอาไปกินเป็นมงคลเด้อ” ก็เหมือนเดิม คือท่านไม่ฉันเลยแล้วท่านก็กลับ



ที่บริเวณ “ภูเขาควาย” มีพระภิกษุหลายรูปที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ... สถานที่นี้เป็นสัปปายะเหมาะสมในการปฏิบัติธรรมจึงเป็นแหล่งชุมนุมพระผู้ปฏิบัติธรรมหลายประเภท คล้าย ๆ ถ้ำจุงจิง แต่ถ้ำจุงจิงมีพระผู้สำเร็จมากกว่านี้ เพราะสถานที่สัปปายะมากกว่านี้ เช่น เป็นที่สงบ ที่หลีกเร้น ดิน อากาศ ฟ้า เหมาะสมต่อการปฏิบัติธรรม และมีครูบาอาจารย์ที่เป็นพระผู้สำเร็จอยู่มาก...


3 ความคิดเห็น: