วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559

[เรื่องนี้ต้องอ่าน] "ทาน" ที่ให้แล้วมีผลมาก มีอานิสงส์มากเป็นเช่นใด?


"ทาน" ที่ให้แล้วมีผลมาก มีอานิสงส์มากเป็นเช่นใด?

ใน "ทานสูตร" อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๔๙ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ทานที่ให้แล้ว มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก และเหตุปัจจัยที่ทำให้ทานที่ให้แล้วมีผลมาก และมีอานิสงส์มาก ไว้ดังต่อไปนี้

๑. บุคคลบางคน ให้ทานด้วยความหวังว่า "เมื่อตายไปแล้ว จักได้เสวยผลของทานนี้" เมื่อตายไป ได้เกิดในเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

๒. บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน แต่ให้ทานเพราะ "รู้ว่าทานเป็นของดี เป็นบุญ เป็นกุศล" จึงให้เมื่อตายไป ได้เกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมากแต่ไม่มีอานิสงส์มาก

๓. บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทาน เพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี แต่ "ให้ทานเพราะละอายใจที่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษเคยทำมา ถ้าไม่ทำก็ไม่สมควร" ครั้นตายลงได้เกิดในเทวโลกชั้นยามา สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

๔. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ แต่ "ให้ทานเพราะเห็นสมณพราหมณ์เหล่านั้นหุงหากินไม่ได้" เราหุงหากินได้ ถ้าไม่ให้ก็ไม่สมควร ครั้นตายลงได้เกิดในเทวโลกชั้นดุสิต สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมากแต่ไม่มีอานิสงส์มาก

๕. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ ไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นว่า สมณพราหมณ์หุงหากินไม่ได้ แต่ "ให้ทานเพราะต้องการจำแนกแจกทานเหมือนกับฤาษีทั้งหลายในปางก่อนได้กระทำมหาทานมาแล้ว" เขาตายไปได้เกิดในเทวโลกชั้นนิมมานรดี สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

๖. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ ไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นว่าสมณพราหมณ์หุงหากินไม่ได้ ไม่ได้ให้ทานเพราะต้องการจำแนกแจกทานเหมือนฤาษีทั้งหลายในปางก่อนได้กระทำมหาทาน แต่ "ให้ทานเพราะคิดว่าเมื่อให้แล้ว จิตจะเลื่อมใสโสมนัสจึงให้" ครั้นตายไปย่อมเกิดในเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตดี สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

๗. บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานเพราะเหตุที่กล่าวแล้วทั้ง ๖ อย่างข้างต้นนั้น แต่ "ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต คือให้ทานนั้นเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจหมดจดจากกิเลสด้วยอำนาจของสมถะและวิปัสสนา จนได้ฌานและบรรลุ จนได้ฌานและบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล" ตายแล้วได้ไปเกิดในพรหมโลก เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในพรหมโลกแล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก คือปรินิพพานในพรหมโลกนั้นเอง ทานชนิดนี้เป็นทานที่มีผลมาก และมีอานิสงส์มาก

สรุปรวมความว่า ทานชนิดใดก็ตาม เป็นปัจจัยให้ต้องเกิดอีก ทานชนิดนั้นแม้มีผลมาก ได้เกิดที่ดีมีความสุขอันเป็นทิพย์ แต่ทานนั้นก็ไม่มีอานิสงส์มาก เพราะไม่สามารถจะทำให้หมดจดจากกิเลสได้

ส่วนทานชนิดใดเป็นปัจจัยให้ไม่ต้องเกิดอีก ทานชนิดนั้นชื่อว่ามีผลมากด้วย มีอานิสงส์มากด้วย เพราะ "ทำให้หมดจดจากกิเลส"

ฉะนั้นคำว่า "อานิสงส์มาก" ในที่นี้ จึงหมายถึง "การหมดจดจากกิเลสทั้งปวงไม่ต้องเกิดอีก" คือ ให้ทานเพื่อ "มรรคผลนิพพาน" นั่นเอง...

วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

[เรื่องนี้ต้องอ่าน] ...สังขารไม่เที่ยง.. (พระพุทธเจ้าโปรดพระวักกลิเถระเมื่อครั้งอาพาธหนัก)



พระพุทธเจ้าโปรดพระวักกลิเถระเมื่อครั้งอาพาธหนัก

พระพุทธองค์ทรงสถาปนา...พระวักกลิเถระ...ไว้ในตำแหน่ง...เอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสัทธาธิมุติ...


ในพระไตรปิฎกฉบับที่ ๑๗ (พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค) ได้กล่าวถึงประวัติของท่านไว้ค่อนข้างจะแปลกออกไปจากที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ในครั้งนั้น พระวักกลิเถระเมื่อปวารณาออกพรรษาแล้ว ท่านได้ออกเดินทางมาเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขณะที่เดินทางมาถึงกลางพระนครราชคฤห์นั้น ท่านก็เกิดอาพาธหนัก เท้าทั้งสองข้างก้าวไม่ออก พวกชาวเมืองแถวนั้น นำท่านนอนไปในวอ หามท่านไปไว้ในโรงที่ทำงานของช่างหม้อเหล่านั้น แต่มิใช่เป็นโรงที่เขาพักอาศัยกัน

ครั้งนั้น ท่านพระวักกลิ เรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว กล่าวขอให้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลวักกลิภิกษุอาพาธเป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาท่านวักกลิถึงที่อยู่เถิด

ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านวักกลิแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ท่านพระวักกลิ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้วก็ลุกขึ้นจากเตียง

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระวักกลิว่า “อย่าเลย วักกลิเธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจะนั่งที่อาสนะนั้น”

พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระวักกลิว่า “ดูกรวักกลิ เธอพอทนได้หรือ ทุกขเวทนานั้นปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ ท่านพระวักกลิกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แรงกล้า มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่ว่าในร่างกายของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้”

พระพุทธองค์ตรัสว่า

“อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร? ดูกรวักกลิผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม วักกลิเป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม วักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ “เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ “เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสสอนท่านพระวักกลิด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จไปยังภูเขาคิชฌกูฏ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พระวักกลิได้เรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว ขอให้หามท่านไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ด้วยท่านคิดว่า ท่านเป็นพระภิกษไม่สมควรจะสิ้นชีวิตในบ้านคน อันจะนำความลำบากมาให้แก่เจ้าบ้าน ภิกษุอุปัฏฐากเหล่านั้นจึงอุ้มท่านพระวักกลิขึ้นเตียง หามไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้ เทวดาเหล่านั้น ได้กราบทูลอย่างนี้แล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว ก็หายไป ณ ที่นั้นเอง

ครั้นรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งให้นำข้อความที่เทวดา ๒ องค์ที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เมื่อกลางคืนเล่าถวายพระบรมศาสดาให้ท่านพระวักกลิฟัง แล้วรับสั่งให้บอกแก่พระวักกลิว่า พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านอย่างนี้ว่า อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยาอันไม่เลวทรามแก่เธอ ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านวักกลิว่า อาวุโส วักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค และคำของเทวดา ๒ องค์

เมื่อท่านพระวักกลิเรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านจงช่วยกันอุ้มเราลงจากเตียง เพราะว่า ภิกษุผู้นั่งบนอาสนะสูงเช่นเราไม่บังควรฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค ภิกษุเหล่านั้น รับคำของท่านพระวักกลิแล้ว ก็ช่วยกันอุ้มท่านพระวักกลิลงจากเตียงแล้ว จึงเล่าพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค และคำของเทวดา ๒ องค์แก่พระวักกลิ

พระวักกลิกล่าวว่า อาวุโส ถ้าเช่นนั้น ท่านจงช่วยทูลพระผู้มีพระภาคด้วยว่า

วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนักได้รับทุกขเวทนา บัดนี้ไม่เคลือบแคลงแล้วว่า รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใด (ที่) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ (สิ่งนั้น) มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ท่าน

ท่านไม่เคลือบแคลงแล้วว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใด (ที่) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ (สิ่งนั้น) มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี กำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ท่าน ดังนี้

ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระวักกลิแล้วกลับไป

ครั้งนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้น กลับไปไม่นาน ท่านพระวักกลิก็นำเอาศาตรามาได้ยินว่า พระเถระเป็นผู้มีมานะจัด มองไม่เห็นการกลับฟุ้งขึ้นมาอีก แห่งกิเลสทั้งหลาย (ที่ถูกข่มไว้ได้ด้วยสมาธิและวิปัสสนา) จึงสำคัญว่าท่านเป็นพระขีณาสพแล้ว และคิด ต่อไปอีกว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ เราจะอยู่ไปทำไม เราจักเอามีดมาฆ่าตัวตาย เมื่อคิดดังนั้นแล้วจึงได้เอามีดที่คมมาเฉือนก้านคอ ทันใดนั้น ทุกขเวทนาก็เกิดขึ้นแก่ท่าน ขณะนั้นท่านจึงทราบว่าตนเองยังเป็นปุถุชนอยู่ เลยรีบคว้าเอากัมมัฏฐานข้อเดิมมาพิจารณาเนื่องจากว่าท่านยังไม่ได้ละทิ้งกัมมัฏฐาน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วมรณภาพในทันที

ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงถ้วยคำที่พระวักกลิฝากมากราบทูลพระบรมศาสดา พระผู้มีพระภาคเมื่อได้ฟังคำที่พระวักกลิฝากมากราบทูลแล้วจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า เราจะพากันไปยังที่อยู่ของพระวักกลิ แล้วจึงได้เสด็จไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พร้อมด้วยภิกษุเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงที่นั้นแล้ว ได้ทอดพระเนตรเห็น ร่างของท่านพระวักกลินอนอยู่บนเตียงแต่ไกลเทียว ในเวลานั้นก็ ปรากฏเป็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอกลอยไปมาทั่วทุกทิศ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมองเห็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอก ลอยไปมาทั่วทุกทิศหรือไม่? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่าเห็น พระเจ้าข้า

พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นแหละคือมารใจหยาบช้า ค้นหาวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ด้วยคิดว่าวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งไหนหนอ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย วักกลิกุลบุตรมีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่ ...ปรินิพพานแล้ว...



..............................................................................

วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2559

[นิทานเซน] เรื่อง “นก...ที่บินหลงทาง”


“นก...ที่บินหลงทาง”


ที่ภูเขาต้าเยี่ยน มีพระรูปหนึ่งปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่น ท่านเป็นพระที่เทศน์เก่งมาก ท่านมักจะใช้สิ่งที่มีชีวิตรอบตัวสอดแทรกธรรมะ จากนั้นก็ใช้คำง่ายๆแต่งเป็นโศลก
มีอยู่ครั้งหนึ่ง อุบาสกท่านหนึ่งถามท่านว่า

“ มีคนพูดกันว่า การบูชาใดๆต่อพระพุทธเจ้าทั้งปวงในสากลโลก ก็ไม่เท่ากับการบูชาต่อผู้ที่ดำเนินตามทางแห่งมรรคเพียงคนเดียว ไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าทั้งปวงเป็นอย่างไร ? คนเดินตามทางเดินแห่งมรรคมีบุญกุศลใด “

พระรูปนั้นพูดเป็นโศลก ว่า “ เพียงแค่มีเมฆหมอกมาบดบัง นกก็ยังหลงทางบินกลับรัง "

" เป็นเพราะว่ามีเมฆหมอกมาปิดทางกลับรังของนก นกจึงหาทางกลับรังไม่ถูก ถ้าเรามัวแต่บูชาพระพุทธองค์ จิตย่อมจดจ่อและยึดติดอยู่กับองค์พระ ทำให้ตัวเองกลับเดินหลงทาง ผู้ที่เดินตามทางแห่งมรรคย่อมทำให้จิตตัวเอง สะอาด และสว่างกลับมารู้จักตัวเอง จิตจึงไม่หลงทาง “

อุบาสกคนนั้นถามต่อว่า โบสถ์วิหารเป็นดินแดนแห่งความสงบและสะอาด ทำไมถึงต้องตีกลองและเคาะ “ ปลาไม้ ”

พระรูปนั้นตอบเป็นโศลกว่า “ เพื่อตีให้เสียงก้องกังวานไป เพื่อมิให้เหล่ามังกรนั่งคำนับ “

วัดที่เงียบสงบต้องตีกลองและเคาะ “ ปลาไม้ ” มีความหมายที่ลึกซึ้งแฝงอยู่ในนั้น ธรรมดาปลาอยู่ในน้ำ ไม่เคยปิดตา ดังนั้นการเคาะ ”ปลาไม้” จึงเป็นการแสดงถึงความขยันฝึกฝน ไม่เกียจคร้าน การตีกลองก็เพื่อย้ำเตือนให้ผู้คน เลิกทำบาป และสร้างกุศล

อุบาสกท่านนั้นถามต่ออีกว่า “ เมื่อปฏิบัติธรรมอยู่กับบ้านก็ได้ ทำไมถึงต้องออกบวชอีก “

พระรูปนั้นตอบเป็นโศลกว่า “ นกยูงแม้จะมีปีกที่สวยงาม แต่ก็บินได้ไม่สูงเฉกเช่นนกอื่น “

" การปฏิบัติธรรมที่บ้านเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อบวชแล้วย่อมจะตั้งมั่น และแน่วแน่กว่า ย่อมจะไปได้ไกลกว่า “


[บทความ] อะไรคือ สังฆคุณ ๙ ?



อะไรคือ สังฆคุณ ๙ ?

คุณของพระสงฆ์ หมายถึง คุณความดีที่พระสงฆ์มีอยู่ประจำตน พระสงฆ์ที่มีคุณความดีได้รับยกย่องมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คือพระอริยสงฆ์ พระสงฆ์ผู้บรรลุมรรคและผลขั้นต่าง ๆ สำหรับสมมติสงฆ์ พระสงฆ์โดยสมมติในปัจจุบันนี้หากมีข้อวัตรปฏิบัติอันน่าเลื่อมใสศรัทธา ก็อนุโลมตามคุณของพระอริยสงฆ์ได้

สังฆคุณมี ๙ ประการ ๔ ประการแรกเป็นเหตุและ ๕ ประการหลังเป็นผลดังต่อไปนี้

๑. สุปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีคือ ๑.ปฏิบัติไม่ตามมัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นทางสายกลาง ไม่หย่อนนัก ไม่ตึงเครียดนัก ๒.ปฏิบัติไม่ถอยหลัง ปฏิบัติได้ดีเท่าเดิม หรือก้าวหน้าสูงขึ้นไป ๓.ปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า

๒. อุขุปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติตรง คือ
     ๑. ไม่ปฏิบัติลวงโลก คือ ปฏิบัติต่อหน้าคนอย่างหนึ่ง ปฏิบัติลับหลังคนอีกอย่างหนึ่ง 
     ๒. ไม่ปฏิบัติเพื่อโอ้อวด คือปฏิบัติเพื่อให้คนทั่วไปเห็นว่าตนปฏิบัติเคร่งครัดกว่าใคร ๆ
     ๓. ปฏิบัติตรงต่อพระพุทธเจ้า และพระสาวกด้วยกัน ไม่อำพรางความในใจ ไม่มีแง่งอน

๓. ญายปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติถูกทางคือ
     ๑.ปฏิบัติมุ่งธรรมเป็นใหญ่
     ๒.ปฏิบัติถือความถูกต้องเป็นสำคัญ
     ๓.ปฏิบัติเพื่อความตรัสรู้

๔. สามีจิปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติสมควรคือ
     ๑. ปฏิบัติน่านับถือ สมควรได้รับความเคารพ
     ๒.ปฏิบัติชอบอย่างยิ่ง
     ๓.ปฏิบัติดีที่สุด

๕. อาหุเนยโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่สิ่งของคำนับ คือ ควรได้รับสิ่งของที่เขานำมาถวาย เพราะท่านมีคุณสมบัติ ๔ ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้น ด้วยว่าสิ่งที่เรียกว่าอาหุนะ เป็นของที่ท่านใช้บูชาคุณความดีของคน เมื่อพระสงฆ์ประกอบด้วยคุณสมบัติเช่นนั้น จึงควรแก่อาหุนะ คือสิ่งของคำนับ

๖.ปาหุเนยโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ คือ ผู้ปฏิบัติงามเช่นนี้ เมื่อท่านไปในบ้านเมืองใด ย่อมเป็นผู้สมควรแก่การต้อนรับเหมือนการต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ พระสงฆ์อยู่ในฐานะนั้น

๗.ทักขิเณยโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่ทักษิณาควรแก่สิ่งของทำบุญ คือ พระสงฆ์ผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวย่อมได้รับประโยชน์ตามที่ปรารถนา แม้การอุทิศกุศลเพื่อผู้ตาย พระสงฆ์ก็จัดเป็นทักขิไณยบุคคล คือ ควรรับทักษิณาทานนั้น ๆ

๘. อัญชลีกรณีโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี คือ พระสงฆ์เป็นผู้มีคุณความดีอยู่ในสันดาน ย่อมอยู่ในฐานะที่ใคร ๆ ควรแสดงความเคารพด้วยการกราบไหว้ เพราะทำให้ผู้ไหว้มีความรู้สึกว่าตนได้ไหว้ผู้ที่มีคุณธรรมสมควรแก่การไหว้ ทั้งเป็นการช่วยให้ผู้ไหว้เจริญด้วยพรทั้ง ๔ ประการ อันได้แก่ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ด้วย

๙. อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเนื้อนาบุญของโลก คือ พระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์ ทักษิณาที่บริจาคแก่พระสงฆ์ย่อมมีอานิสงส์มาก เปรียบเหมือนนามีดินดีและน้ำดำ พืชที่หว่านไปย่อมให้ผลไพบูลย์ จึงเป็นที่บำเพ็ญบุญของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย


พระสงฆ์สาวกที่มาในบทสังฆคุณ ๙ บทนี้ ท่านหมายเอาพระอริยบุคคล ๔ คู่ ๘ บุคคล ซึ่งท่านเหล่านี้ล้วนตั้งอยู่ในมรรคผลทั้งสิ้น คือ

คู่ที่ ๑ คือ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล
คู่ที่ ๒ คือ พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล
คู่ที่ ๓ คือ พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล
คู่ที่ ๔ คือ พระอรหันตมรรค พระอรหันตผล






............................................................................


วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559

[คติธรรม] คำพูด



"คำพูด" ทุกคำมีผล
พูดแต่ "กุศล"...สร้างบารมี
พูด "ดีดี"...สร้างชีวิต
พูด "ไม่คิด"...สร้างศัตรู
พูด "อวดรู้"...คือไร้ปัญญา

                         ~ ธัมมวิชชา ภิกษุณี ~