วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

[บทความ] การ "อนุโมทนาบุญ" สำคัญอย่างไร?



การ "อนุโมทนาบุญ" สำคัญอย่างไร?


"ปัตตานุโมทนามัย" หมายถึง บุญที่เกิดจากการอนุโมทนาบุญ คือ พลอยยินดีในความดีที่คนอื่นทำ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการกล่าวขอ "อนุโมทนาบุญ" กับผู้อื่น

คณะสงฆ์ (ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี) และ อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลาย จะมีวิธีการอนุโมทนา หรือเรียกว่า "ปัตตานุโมทนามัย" อยู่ ๒ รูปแบบใหญ่ ๆ คือ

๑. การอนุโมทนาด้วยจิตอันยินดี เลื่อมใสในศรัทธาที่ผู้อื่นได้ทำกุศลไว้ดีแล้ว โดยไม่มีการเปล่งวาจา
๒. และการเปล่งวาจาเพื่ออนุโมทนา ด้วยจิตอันยินดี เลื่อมใสในศรัทธาที่ผู้อื่นได้ทำกุศลไว้ดีแล้ว

"บุญ"...เป็นชื่อของความสุข มีกระแสเป็นความใสเย็น มีผลเป็นความชุ่มชื่นใจ เอิบอิ่มใจ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ มีแต่ความสุขกายสบายใจในทุกหน ทุกแห่ง

บุญที่เป็นปัตตานุโมทนา ย่อมสำเร็จกับหมู่สัตว์ทุก ๆ เหล่า ถ้าเขารับรู้และมีิจิตอนุโมทนาในกุศลที่ผู้อื่นทำแล้ว กุศลก็ย่อมเป็นของบุคคลผู้อนุโมทนา แม้ว่าจะไม่ต้องรอให้บุคคลอื่นแบ่งส่วนบุญให้ แต่เมื่อเห็นแล้วได้ทราบแล้ว เกิดกุศลจิต อนุโมทนาชื่นชมในความดีของผู้อื่น นั่นก็เป็นบุญที่เป็นปัตตานุโมทนามัย

...สำคัญอยู่ที่สภาพจิตในขณะนั้นว่า... จะอนุโมทนาหรือไม่ ถ้าไม่อนุโมทนา กุศล-จิตไม่เกิด" ไม่ใช่บุญ" แต่ถ้ากุศลจิต เกิดก็เป็น "บุญ"...

"ปัตตานุโมทนามัย" เป็นบุญพิเศษที่ไม่ควรมองข้าม เป็นบุญที่ได้อย่างง่าย ๆ โดยไม่ต้องเสียเวลา เงินตรา หรือทุ่มเทสรรพกำลังไปทำ เพียงแค่ทำจิตให้เลื่อมใสในบุญที่คนอื่นเขาทำไว้ดีแล้ว และเข้าไปกล่าวถ้อยคำมงคลว่า

“สาธุ สาธุ ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ / อนุโมทนาบุญด้วยค่ะ”

เมื่ออีกฝ่ายกล่าวรับว่า “สาธุ” ก็เท่ากับว่า...ปัตตานุโมทนามัย...ได้สำเร็จกับตัวเราแล้ว

ดังตัวอย่างที่มีกล่าวไว้เรื่อง "วิหารวิมาน" ในพระไตรปิฏก อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ มัญชิฏฐกวรรคที่ ๔ มีดังนี้


ท่านพระอนุรุทธเถระได้ถามนางเทพธิดาตนหนึ่งว่า

[๔๔] ดูกรนางเทพธิดา... ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก มีรัศมีส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ สถิตอยู่เหมือนดาวประกายพฤกษ์ เมื่อท่านฟ้อนอยู่ เสียงอันเป็นทิพย์น่าฟัง รื่นรมย์ใจ ย่อมเปล่งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วน ทั้งกลิ่นทิพย์อันหอมหวนยวนใจ ก็ฟุ้งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วนเมื่อท่านไหวกายกลับไปมา เสียงของเครื่องประดับช้องผมก็ดังเสียงไพเราะ ดุจเสียงดนตรีเครื่อง ๕ อนึ่ง เสียงมงกุฎที่ถูกลมรำเพยพัดให้หวั่นไหว ก็กังวานไพเราะดุจเสียงดนตรีเครื่อง ๕ แม้พวงมาลัยบนเศียรเกล้าของท่าน มีกลิ่นหอมชวนให้เบิกบานใจ หอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศดุจต้นอุโลก ฉะนั้น ดูกรนางเทพธิดา อาตมาถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอก นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร?

นางเทพธิดาตอบว่า... ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นสหายของดิฉันอยู่ในเมืองสาวัตถี ได้สร้างมหาวิหารถวายสงฆ์ ดิฉันเห็นมหาวิหารนั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใสอนุโมทนา ก็วิมานอันเป็นที่รักนี้อันดิฉันได้แล้วเพราะ "การอนุโมทนาด้วยจิตบริสุทธิ์" แต่อย่างเดียวเท่านั้น....

(อ้างอิง : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา ข้อที่ ๔๔ "วิหารวิมาน" ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในวิหารวิมาน)

การเปล่งวาจา เพื่อกล่าวถ้อยคำที่ออกมาจากใจว่า “ขออนุโมทนาบุญ” จึงเป็นถ้อยคำอันเป็นมงคล...หากใจเรามีความปีติใจเลื่อมใสในบุญกุศลที่คนอื่นทำจริง ๆ ผลบุญนั้นย่อมเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน ดังนั้นจงหมั่นมี "มุทิตาจิต" กับคนอื่น เมื่อเห็นบุคคลใดทำความดีแม้เพียงเล็กน้อย ก็ให้รีบยกมือกล่าว "อนุโมทนา" กับเขาด้วยจิตซรัทธาเลื่อมใส..."สุคติ" จะได้เปนที่ไป...


~ ธัมมวิชชา ภิกษุณี ~





เพลง "อนุโมทนา"
ขับร้อง/ทำนอง : ปัญจสิกขะ

อนุโมทนา...อนุโมทนา...อนุโมทนา...ผู้มีบุญทุกคน
อนุโมทนา...อนุโมทนา...อนุโมทนา...
อนุโมทนาในมหากุศลผลบุญ 
ที่ท่านได้ค้ำจุนพระพุทธศาสนา
สร้างบารมี.. สมที่ได้เกิดมา...
มนุษย์เทวาอนุโมทนา...มนุษย์เทวาอนุโมทนา...
บุญกุศลที่ท่านทำในครานี้...จะติดตามไปภายภาคหน้า
ให้มีสุขทุกชาติที่เกิดมา... ตราบจนกว่าเข้าสู่พระนิพพานฯ

อนุโมทนา...อนุโมทนา...อนุโมทนา...ผู้มีบุญทุกคน
อนุโมทนา...อนุโมทนา...อนุโมทนา...ผู้มีบุญทุกคน


-----------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น