ครูบาชัยวงศา...จาก "เด็กขอทาน" สู่ "พระอริยสงฆ์ในดงกะเหรี่ยง"
อดีตในวัยเยาว์ของ
"ครูบาชัยวงศา" ท่านเกิดในครอบครัวชาวไร่ชาวนายากจนเคย
"ขอทาน" เพื่อหาเงินเลี้ยงดูโยมบิดามารดาและน้องอีก ๙ คน พอโตขึ้นมาก็ถูกเพื่อนลูกศิษย์ด้วยกันกลั่นแกล้ง
...เอาน้ำรักใส่ที่นอน จนหลังเน่าเปื่อยทนทุกข์เวทนาอย่างสาหัส... เมื่อเรียนหนังสือก็ถูกครูใช้สันขวานเคาะศีรษะและทุบตีจนเนื้อแตก...ในยามนอนก็ถูกเพื่อนเอาทรายกรอกปาก เอาน้ำราดหัว เอากระโถนน้ำมูตรคูถมาวางตรงหน้าขณะกินข้าว...
เมื่อครั้งที่ครูบาชัยวงศายังเป็นสามเณรน้อยได้เดินธุดงค์มากับครูบาก๋า มาพบ "วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม" สามเณรน้อย (ครูบาชัยวงศา) ได้เคยถามครูบาก๋าถึงการปฎิสังขรณ์วัดนี้ ได้รับคำตอบว่า "ไม่ใช่หน้าที่ของท่านเอง" และได้ชี้มือไปที่ตัวสามเณร (ครูบาชัยวงศา) แล้วบอกว่า
"ต่อไปเณรน้อยจะได้มาเป็นผู้สร้างวัดนี้"
ซึ่งเรื่องนี้ได้ไปตรงกับข้อมูลที่ได้จากคำพูดของ
"ครูบาศรีวิชัย" เช่นกัน...เมื่อครั้งที่ได้มีชาวบ้านไปนิมนต์ครูบาศรีวิชัยให้มาบูรณะวัดนี้ ท่านก็ได้ปฏิเสธกับชาวบ้านว่า
"ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน เป็นหน้าที่ของครูบาชัยวงศา" จึงแนะให้ชาวบ้านไปนิมนต์มาซึ่งขณะนั้นครูบาชัยวงศายังเป็นสามเณรอยู่
ครูบาชัยวงศาท่านเป็น
"พระพุทธเจ้าน้อยของชาวกะเหรี่ยง" เมื่อครั้งที่ชาวบ้านได้ขุดพบศิลาจารึก ที่มีตัวอักษรล้านนาไทยเขียนไว้ด้วยประโยคสั้นๆว่า
"ผู้ที่จะสร้างวัดนี้คือพระพุทธเจ้าน้อย ซึ่งจะเริ่มมาสร้างปี.... ตอนนี้อยู่ที่.... เกิดที่.... จะเป็นผู้มาสร้าง" ซึ่งก็เป็นความจริงตามในศิลาจารึกแผ่นนั้นทุกประการ...ขณะนั้นครูบาชัยวงศาได้รับการยกย่องจากชาวเขา ให้เป็นพระพุทธเจ้าน้อยอยู่ก่อนแล้ว แม้แต่สถานที่อยู่ สถานที่เกิด ก็ตรงกับทิศทางที่ศิลาจารึกบอกทุกประการ...ด้วยเหตุนี้บรรดาชาวบ้าน ตลอดจนนายอำเภอจึงไปนิมนต์ครูบาชัยวงศามาสร้างและบูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยต้มตั้งแต่นั้นมา
พระผู้เป็นที่พึ่งของ "ชาวกะเหรี่ยง"
ครูบาชัยวงศาได้มาจำพรรษาที่วัดพระบาทห้วยต้ม เมื่อมีอายุได้ ๓๓ ปี ระยะแรกที่มาอยู่ บรรดากะเหรี่ยงได้ติดตามท่านมาไม่มากนัก จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ บรรดากะเหรี่ยงทั้งหมดจึงพากันอพยพมาอยู่เป็นหมู่บ้านถึง ๖๐๐ หลังคาเรือน ๓,๐๐๐ กว่าคน
ทุกคนกินอาหารมังสวิรัติ ตามครูบาชัยวงศา ซึ่งได้ชี้ให้เห็นโทษการกินเนื้อสัตว์ หันมากินข้าวเหนียวจิ้มพริกกับเกลือและผักต้มแทน แต่เดิมชาวเขาเหล่านี้ไม่เคยเห็นพระสงฆ์ ต่างกลัวกันมากเมื่อเห็นครูบาชัยวงศาเดินมา ต่างรีบอุ้มลูกจูงหลานหนีเข้าบ้าน
พวกผู้ชายที่ใจกล้าก็เข้ามาพูดคุยกับท่านมาซักถาม บ้างก็เอามือลูบหัวท่านเล่น แล้วเรียกท่านว่า "เสี่ยว" เพราะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธจึงไม่รู้จักพระสงฆ์
ต่อมา ครูบาชัยวงศาได้ใช้กุศโลบาย ค่อยๆ ตะล่อมสอนชาวเขาเหล่านี้ ให้เลิกยึดถือประเพณีบูชาผีสางนางไม้ ให้หันมาเลื่อมใสในข้อธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยปูพื้นและวางหลักเกณฑ์ในการยึดถือพระพุทธศาสนาให้ถึงแก่นและกระพี้
ให้เลิกละการเบียดเบียนรังแกสัตว์ เพียงเพื่อสนองความสุขของตัว ชาวเขาถามครูบาชัยวงศาว่า โกนหัวและห่มผ้าเหลืองทำไม ท่านได้เมตตาอธิบายให้ฟังว่า ท่านเป็นพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประพฤติพรหมจรรย์ มีศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเครื่องซักฟอกชำระจิตใจ ไม่เบียดเบียนผู้ใด จึงต้องนุ่งห่มผ้าย้อมฝาด ปฏิบัติตัวอยู่ในพระธรรมวินัยที่พระบรมศาสดากำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
พระผู้ทำให้ชาวกะเหรี่ยงกินอาหาร "มังสวิรัติ" ทั้งหมู่บ้าน
ชาวเขาได้ฟังคำสั่งสอนของครูบาชัยวงศาก็ศรัทธาเลื่อมใส ต่างพากันนำอาหารที่ประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์มาถวาย ครูบาชัยวงศาก็หยิบเฉพาะผักฉันโดยไม่หยิบเนื้อสัตว์เลย ชาวเขาสงสัยจึงถาม ท่านครูบาชัยวงศาจึงถือโอกาสสั่งสอน ให้ชาวเขาสำนึกในกฎแห่งกรรม สำนึกในความมีเมตตาต่อสัตว์โลกว่า
"...ทุกคนย่อมรักตัวกลัวตาย สัตว์ที่เราล่ามาทำอาหาร ก็มีความกลัวตาย ถ้าเราไม่กินเนื้อสัตว์ ก็จะไม่มีการฆ่า ไม่มีการเบียดเบียนให้เป็นกรรมติดตัวไป...ที่เกิดมาเป็นชาวเขา ต้องพบความลำบากก็เนื่องจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนี่แหละจงอย่าสร้างกรรมเพิ่ม ด้วยการกินเนื้อเขาอีกเลย..."
ชาวเขาฟังแล้วก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้า ตั้งใจมั่นเลิกกินเนื้อสัตว์ แต่นั้นมาหันมากินอาหารมังสวิรัติแทน โดยหาผักหาหญ้า หัวเผือกหัวมัน พริกกับเกลือแทนเนื้อสัตว์ จนเป็นที่โจษขานกันทั่วไป ถึงความสามารถของครูบาชัยวงศาในการขัดเกลาจิตใจชาวเขาเหล่านี้ ซึ่งแต่เดิมชอบประพฤติตัวเกเร ชอบกินเหล้าอาละวาด สร้างปัญหาให้กับประเทศชาติอย่างมาก
นับเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลอย่างมหาศาล เนื่องจากชาวเขาเหล่านี้เป็นชนกลุ่มน้อย ที่สร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองตลอดมา ในการตกเป็นเครื่องมือของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่คอยซุ่มโจมตีทหารรัฐบาลในป่าลึก
ครูบาชัยวงศาได้ให้เหตุผลที่จะดึง และโน้มน้าวจิตใจชาวเขาเหล่านี้ว่า
"ผู้ที่เกิดมาเป็นชาวเขานั้น แต่ชาติปางก่อนได้สร้างกุศลมาไม่ดี จึงต้องเกิดมาเป็นชาวเขา ถ้าทำให้เขาละการสร้างเวรให้กับตัวเขาก็จะได้กุศลที่ดีเป็นคนดีของประเทศชาติ ไม่มีปัญหาต่อชาติต่อไป..."
ด้วยขันติบารมีการวางเฉย ด้วยใจที่ให้อภัยต่อสัตว์โลก
ครูบาชัยวงศา จึงได้รับการยกย่องจากชาวเขาเผ่าต่างๆ ให้เป็น ครูบา ผู้เปี่ยมล้นไปด้วยคุณธรรมอันสูงส่ง และด้วยอำนาจความเพียรพยายามทางจิต
ท่านครูบาชัยวงศา คือผู้หนึ่งที่เทพยดาฟ้าดินให้ความเมตตาอภิบาลรักษาคุ้มครองป้องกันเพื่อให้ท่านได้กระทำความดี สร้างบารมีเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ ด้วยจุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่ในอนาคตข้างหน้า นั่นคือแทนแห่งพุทธภูมิ...
เป็นกำลังสำคัญสร้างทางขึ้น "ดอยสุเทพ"
ครูบาชัยวงศาได้ไปร่วมแรงร่วมใจกับครูบาขาวปี ช่วยครูบาศรีวิชัยทำงานในด้านต่างๆ ทั้งงานศาสนาและงานสาธารณประโยชน์ ทั้งที่ได้รับอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะอุปสรรคในการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพร่วมกับครูบาศรีวิชัย โดยครูบาชัยวงศาและครูบาขาวปี เป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมในการสร้างทางคนละครึ่ง ครูบาขาวปีรับผิดชอบควบคุมช่วงล่างตั้งแต่วัดศรีโสดาถึงวัดสกิทาคามี (วัดนี้ถูกรื้อไปแล้ว) ส่วนครูบาชัยวงศารับช่วงตั้งแต่วัดสกิทาคามี และสร้างวัดอนาคามี (ซึ่งขณะนี้ทรุดโทรมและถูกรื้อไปแล้ว) ไปจนถึงทางขึ้นดอยสุเทพ
ในขณะสร้างทางได้รับความลำบากทุกข์เวทนาอย่างสาหัส เนื่องจากถูกกลั่นแกล้งจากตำรวจหลวงและพระสงฆ์ที่ไม่เข้าใจในเจตนามุ่งมั่นอันแท้จริงของครูบาศรีวิชัย คอยจับสึกอยู่เสมอ การดำเนินการก่อสร้างจึงต้องลงมือเมื่อพระอาทิตย์ล่วงลับไปเสียก่อน และต้องหาที่หลบซ่อนเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นในเช้าของวันใหม่ งานสร้างทางตอนเริ่มแรกมีชาวบ้านมาช่วยงานไม่มากเท่าไร แต่นานไปก็ได้มีพวกชาวกะเหรี่ยงและชาวบ้านในหลายตำบล หลายหมู่บ้าน พากันมาลงแรงร่วมใจอย่างมากมาย ด้วยความศรัทธาและเต็มใจ จนในที่สุดการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพก็สำเร็จลุล่วงได้
ออกธุดงค์ในป่าลึก "บิณฑบาตข้าวเทวดา"
การออกธุดงค์ส่วนใหญ่จะเป็นป่าลึกปราศจากผู้คน จึงไม่มีใครมาใส่บาตร มีแต่ผีป่านางไม้เท่านั้นที่ลงมาใส่บาตร เรื่องนี้เป็นคำบอกเล่าของครูบาชัยวงศา ที่เคยเล่าไว้กับลูกศิษย์ของท่านว่า
"...การอยู่ในป่าลึกที่เต็มไปด้วยอมนุษย์และสิงสาราสัตว์น้อยใหญ่ การบำเพ็ญเพียรทางจิตให้กล้าแข็งเต็มไปด้วย พลังเมตตาต่อสัตว์โลกแล้วจะไม่อดตาย เพราะผีป่านางไม้จะนำเอาอาหารทิพย์มาให้และอภิบาลรักษา ครั้งหนึ่งขณะที่ครูบาชัยวงศากำลังทำความเพียรทางจิต ไม่มีเวลาไปหาพืชป่ามาฉัน ท่านจึงนำบาตรเปล่าไปตั้งไว้ที่โคนต้นไม้ จากนั้นได้มานั่งภาวนาพิจารณาธรรมต่อไปจนออกจากสมาธิ เมื่อได้เวลาฉันเพล เมื่อท่านได้เดินไปที่บาตร ปรากฏมีข้าวสีเหลืองมีกลิ่นหอมเต็มอยู่ในบาตร บางวันก็มีดอกไม้ป่าใส่มาด้วย..."
บ่อบครั้งที่ครูบาชัยวงศาต้องออกธุดงค์ไปถึงเทือกเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ เวลานั่งบำเพ็ญเพียรทางจิต ต้องก่อไฟไว้เพื่อสร้างความอบอุ่น มีอยู่ครั้งหนึ่งไฟที่ก่อได้ลุกลามมาติดจีวร ตั้งแต่ชายจีวรจนถึงหน้าอกแล้วท่านยังไม่รู้ตัวจนกระทั่งออกจากสมาธิ จึงได้พบว่าเปลวไฟกำลังเลียเนื้อหนังของท่านอยู่
ขณะที่มาปกครองวัดพระบาทห้วยต้มในระยะแรกๆ ครูบาชัยวงศาก็ยังออกธุดงค์ไปบำเพ็ญเพียรทางจิตในที่ต่างๆ อยู่เสมอ ทั้งที่หนทางก็กันดารลำบากยากเข็ญ ต้องผจญกับไข้ป่าและธรรมชาติ เครื่องอัฐบริขารก็มีไม่ครบ เวลาเจอพายุฝนก็ต้องภาวนากันใต้ต้นไม้ใหญ่ นั่งตากพายุจนเปียกปอนอยู่เสมอ การผจญกับความลำบากเป็นเสมือนหนึ่งหินลับมีด ยิ่งลำบากเท่าไร ก็เท่ากับได้มีโอกาสลับมีดให้คม พร้อมที่จะเชือดเฉือนสรรพสิ่งได้ทันท่วงทีฉันนั้น
"ครูบาชัยวงศา" ท่านเป็นยอดแห่งความอดทนมาตั้งแต่เล็ก ยากที่จะหาใครเทียบเท่าได้...