วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

[บทสวดมนต์] โมรปริตต์


พระคาถาโมรปริตต์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "พระคาถาพญายูงทอง" สำหรับความศักดิ์สิทธิ์ของคาถานี้นั้น หลายท่านอาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้วคาถา "นะโมวิมมุตตานัง นะโมวิมุตติยา" เป็นคาถาที่ปรากฏในตำนานโมรปริตต์ (อุเทตะยัญจักขุมา) ซึ่งเป็นนิทานชาดก โดยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็น "พญานกยูงทอง"


บทสวดมนต์โมรปริตต์ (บาลีแปลไทย)


๏ อุเทตยญฺจกฺขุมา เอกราชา
๏ พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่าง

หริสฺสวณฺโณ ปฐวิปฺปภาโส
อย่างเอกกำลังอุทัยขึ้นมาทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี

ตํ ตํ นมสฺสามิ หริสฺสวณฺณํ ปฐวิปฺปภาสํ
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งทอ แสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี

ตยชฺช คุตฺตา วิหเรมุ ทิวสํ
ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มกันแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุข ตลอดวัน

เย พฺราหฺมณา เวทคุ สพฺพธมฺเม
พราหมณ์เหล่าใดผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง

เต เม นโม เต จ มํ ปาลยนฺตุ
ขอพรามหณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย

นมตฺถุ พุทฺธานํ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

นมตฺถุ โพธิยา
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ

นโม วิมุตฺตานํ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

นโม วิมุตฺติยา
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

อิมํ โส ปริตฺตํ กตฺวา
นกยูงนั้น เจริญพระปริตต์นี้แล้ว

โมโร จรติ เอสนา ฯ
จึงเที่ยวไปแสวงหาอาหาร.

อเปตยญฺจกฺขุมา เอกราชา
พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่าง

หริสฺสวณฺโณ ปฐวิปฺปภาโส
อย่างเอก ส่องแสงสว่างไปทั่วปฐพีแล้วอัสดงคตไป

ตํ ตํ นมสฺสามิ หริสฺสวณฺณํ ปฐวิปฺปภาสํ
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งส่องสว่างไปทั่วปฐพี

ตยชฺช คุตฺตา วิหเรมุ รตฺตึ
ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน

เย พฺราหฺมณา เวทคุ สพฺพธมฺเม
พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง

เต เม นโม
ขอพราหมณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า

เต จ มํ ปาลยนฺตุ
และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย

นมตฺถุ พุทฺธานํ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

นมตฺถุ โพธิยา
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ

นโม วิมุตฺตานํ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

นโม วิมุตฺติยา
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

อิมํ โส ปริตฺตํ กตฺวา โมโร วาสมกปฺปยีติ ฯ
นกยูงนั้นเจริญพระปริตต์นี้แล้วจึงสำเร็จการพักอยู่อาศัยแล.




ตำนานพระปริตร : โมรปริตร (พระคาถาพญายูงทอง)

...ครั้งเมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาค ทรงประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภถึงภิกษุผู้ตกอยู่ในอารมณ์กระสันรูปหนึ่ง จึงทรงตรัสพระธรรมเทศนา พระปริตรนี้ให้แก่ภิกษุนั้นฟัง มีความว่า

อดีตกาลเนิ่นนานมา มีพระราชาทรงพระนามว่าพรหมทัตต์ ครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เจ้า ได้บังเกิดในครรภ์นางนกยูง อันอาศัยอยู่ในป่าชายแดน กรุงพาราณสี เมื่อพระโพธิสัตว์ ออกจากไข่แล้วมีผิวพรรณและสีขนเป็นเงางาม เป็นสีทอง พร้อมประกอบด้วยลักษณะอันเลิศกว่านกทั้งปวง เมื่อเติบใหญ่ เจริญวัย ก็ได้เป็นเจ้าแห่งนกยูงทั้งปวง

วันหนึ่งพญานกยูงทองนั้นได้ไปดื่มในสระแห่งหนึ่ง มองเห็นเงาของตนในน้ำ จึงได้รู้ว่าตนนี้มีรูปงามยิ่งกว่านกยูงทั้งหลาย จึงคิดว่า ถ้าเราขืนอยู่รวมกับหมู่นกยูงทั้งหลายอาจจะนำพาภัยมาถึงหมู่คณะแก่ตัวเอง เห็นทีเราจะต้องหลีกออกเสียจากหมู่ ไปหาที่อยู่ใหม่ คงจะต้องไปให้ไกลจนถึง ป่าหิมพานต์ เราจึงจะพ้นภัย

พญายูงทองนั้นคิดเช่นนี้ แล้ว จึงออกบินไปด้วยกำลัง ไม่ช้านักก็ถึงป่าหิมพานต์ นั้น เสาะแสวงหาได้ถ้ำแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงชัน ณ ป่าหิมพานต์นั้น เป็นที่อยู่อาศัย เป็นชัยภูมิที่เหมาะสม และปลอดภัยจากสัตว์ร้ายทั้งหลาย

ครั้นรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์จึงได้ออกจากคูหา บินไปจับบนยอดเขา หันหน้าไปสู่ทิศบูรพา (ทิศตะวันออก) แล้วเพ่งมองดวงสุริยะ เมื่อยามเช้า พร้อมกับสาธยายพระปริตร ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า

อุเทตยัญ จักขุมาเอกะราชา เป็นต้น เพื่อป้องกันรักษาตนในเวลากลางวัน แล้วจึงเที่ยวออกไปแสวงหาอาหาร

ครั้นถึงเวลาเย็น เมื่อจะบินกลับเข้าที่อยู่ พญานกยูงทอง ก็ไม่ลืมที่จะบินขึ้นไปจับอยู่บนยอดเขา หันหน้าสู่ทิศตะวันตก แหงนมอง ดวงอาทิตย์ที่กำลังอัสดงลับขอบฟ้าไป แล้วสาธยายมนต์พระปริตรขึ้นว่า
อะเปตะยัญจักขุมาเอกะราชา เป็นต้น เพื่อที่จะป้องกันภัย รักษาตนในเวลาตลอดราตรี แล้วจึงบินกลับเขาไป อาศัยอยู่ในถ้ำจนตลอดรุ่ง

เช้าตรู่ของวันใหม่ พญายูงทอง ก็ทำดังนี้ ทุกวันมิได้ขาด พร้อมได้สถิตสถาพรตั้งมั่นอยู่ในความสุขสำราญ ตลอดมา โดยมิมีทุกข์ภัยใด ๆ มากล้ำกรายได้เลย

กาลต่อมามีพรานป่าผู้หนึ่ง เดินทางหลงป่ามาจนได้พบเห็น พญายูงทองที่เกาะอยู่บนยอดขุนเขานั้น แต่ก็มิได้ทำประการใด เพราะมัวแต่พะวง กับการหาทางออกจากป่า จนพรานผู้นั้นหาทางกลับมาถึงบ้านพักของตน ก็มิได้บอกเรื่องที่ได้พบเห็น

พญานกยูงทองนั้นแก่ใคร จวบจนเวลาที่นายพรานผู้นั้นแก่ใกล้ตาย จึงได้บอกเรื่องพญายูงทองให้แก่บุตรของตนได้ทราบ แล้วสั่งว่าควรจะนำข่าวนี้ไปแจ้งแก่พระราชาให้ทรงทราบ สั่งแล้วก็สิ้นลมตาย

ต่อมาภายหลัง พระมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ทรงพระสุบินนิมิตรไปว่า ขณะที่พระนางทรงประทับอยู่ภายในพระราชอุทยาน ที่ประทับอยู่ ณ ริมสระปทุมชาติ ได้มีนกยูงสีทอง บินมาจากทิศอุดร แล้วร่อนลงจับอยู่ ณ ขอนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่ง แล้วนกยูงทองนั้นก็ได้ปราศรัย แสดงธรรมให้แก่พระนางฟัง

กาลต่อมา พระเทวีทรงฝันต่อไปว่า เมื่อพญายูงทองนั้น แสดงธรรมจบแล้ว นกยูงทองนั้นก็จะบินกลับ ในฝันพระนางได้ตะโกนร้องบอกแก่บริวารว่า ช่วยกันจับนกยูงที ช่วยกันจับนกยูงที พระนางตะโกนจนกระทั้งตื่นบรรทม นับแต่นั้นมา พระเทวีก็ให้อาลัยปรารถนาจักได้นกยูงทองตัวนั้นมา จึงออกอุบายแสร้งทำเป็นทรงพระประชวร ด้วยอาการแพ้พระครรภ์ แล้วทูลขอพระสวามีว่า การแพ้ท้องครั้งนี้จักหายได้ ก็ด้วยได้มีโอกาสเห็นพญายูงทอง และสดับธรรมที่พญานกยูงทองแสดง

พระราชาพรหมทัตต์ จึงทรงมีรับสั่งให้เกณฑ์เหล่าพรานไพรทั้งหลาย ที่อาศัยอยู่ในเมืองพาราณสี และรอบอาณาเขตพระนคร เมื่อบรรดาพรานไพร มาประชุมพร้อมกันแล้ว พระราชาจึงทรงตรัสถามว่า มีใครรู้จักนกยูงสีทองบ้าง

ขณะนั้นพรานหนุ่ม ผู้ซึ่งเคยได้รับคำบอกเล่าจากบิดาว่า ได้เคยเห็นนกยูงทอง จึงลุกขึ้นกราบบังคมทูลเนื้อความนั้นแก่พระราชา พร้อมทั้ง กราบทูลแจ้งที่อยู่ของพญานกยูงทองแก่พระราชาด้วย

พระ ราชาพรหมทัตต์ จึงทรงมีพระบัญชาว่า ดีหล่ะในเมื่อเจ้าพอจะรู้ถึงถิ่นที่อยู่ ของพญายูงทอง เราก็จะตั้งให้เจ้ามีหน้าที่เป็นพรานหลวง ไปจับนกยูงทองตัวนั้น มาให้เราและพระมเหสี

พรานหนุ่มก็รับพระบัญชา จากพระราชา แล้วออกเดินทางไปสู่ป่าหิมพานต์ เพื่อที่จะจับยูงทองตัวนั้นมาถวายพระราชาให้จงได้ จวบจนวันเวลาล่วงเลยไปหลายสิบปี พรานหนุ่มซึ่งบัดนี้แก่ชราลงแล้ว ก็ยังมิสามารถจับพญานกยูงทองนั้นได้ ครั้นจะกลับไปยังบ้านเมืองก็เกรงจะต้องอาญา จึงทนอยู่ในป่าหิมพานต์จนกระทั่งตาย

ส่วนพระเทวี เมื่อเฝ้ารอพญายูงทอง ที่ส่งนายพรานไปจับ ก็ยังไม่เห็นมาจนกระทั่งตรอมพระทัยตายในที่สุด พระราชาพรหมทัตต์ ทรงเสียดายอาลัยรัก พระมเหสีเป็นที่ยิ่งนัก จึงทรงดำริว่า พระมเหสีของเราต้องมาตายโดยยังมิถึงวัยอันควร เหตุน่าจะมาจากพญานกยูงทองตัวนั้น เป็นแน่ บัดนี้เราก็แก่ชราลงมากแล้ว คงจะไม่มีโอกาสเห็นนายพรานคนใดจับนกยูงทอง ตัวนั้นได้เป็นแน่ ดีหละถ้าเช่นนั้นเราจะผูกเวรแก่นกยูงตัวนี้ ทรงดำริดังนั้นแล้ว พระราชาพรหมทัตต์ มีรับสั่งให้นายช่างทอง สลักข้อความว่า หากผู้ใด ใครได้กินเนื้อของพญานกยูงทอง ที่อาศัยอยู่ ณ ป่าหิมพานต์ จักมีอายุยืนยาวไม่แก่ ไม่ตาย ลงในแผ่นทอง แล้วเก็บรักษาไว้ในท้องพระคลัง

ต่อมาไม่นานพระราชาพรหมทัตต์ ก็ถึงกาลทิวงคตลง แผ่นทองจารึกนั้น ก็ตกถึงมือของยุวกษัตริย์องค์ต่อมา เมื่อทรงรู้ข้อความในแผ่นทองจารึกนั้นก็หลงเชื่อ มีรับสั่งให้พรานป่า ออกไปตามจับพญานกยูงทองมาถวาย และแล้วพรานไพรนั้น ก็ต้องไปตายเสียในป่าอีก

เหตุการณ์ได้ดำเนินไปเช่นนี้ จนสิ้นเวลาไป ๖๙๓ ปี พระราชาในราชวงศ์นี้ ก็ทิวงคตไป ๖ พระองค์

แม้ว่าจะสิ้นพรานป่าไป ๖ คน พระราชาทิวงคตไป ๖ พระองค์ ก็ยังหามีผู้ใดมีความสามารถจับพญายูงทองโพธิสัตว์ได้ไม่

จวบ จนถึงรัชสมัยพระราชาองค์ที่ ๗ ผู้ครองกรุงพาราณสี ได้คัดสรรจัดหาพรานไพร ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นคนละเอียดรู้จักสังเกต รู้กลอุบาย

นาย พรานคนที่ ๗ เมื่อได้รับพระบัญชา แต่พระราชา ให้ออกไปจับนกยูงทอง ณ ป่าหิมพานต์ ก็จัดเตรียมอุปกรณ์พร้อมบ่วงบาศ เพื่อจะไปดักจับพญายูงทอง

พรานนั้นใช้เวลาในการดักจับพญายูงทองสิ้นเวลาไป ๗ ปี พญายูงทองก็หาได้ติดบ่วงของนายพรานไม่

นายพรานจึงมาใคร่ครวญดูว่า เอ..ทำไมบ่วงของเราจึงไม่รูดติดข้อเท้าของพญายูงทอง แต่ก็หาคำตอบได้ไม่ พรานนั้น ก็มิได้ละความพยายาม เฝ้าสังเกตกิริยา และกิจวัตรประจำวันของพญายูงทอง จึงได้รู้ว่าทุกเช้า และทุกเย็นพญานกยูงทอง จักเจริญมนต์พระปริตร โดยช่วงเช้าบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกมองพระอาทิตย์ ตอนเย็นหันหน้าไปทางทิศตะวัน ตกมองพระอาทิตย์ แล้วสาธยายมนต์

พรานนั้นสังเกตต่อไปว่า ในที่นี้หาได้มีนกยูงตัวอื่นอยู่ไม่ แสดงว่าพญานกยูงนี้ยัง รักษาพรหมจรรย์อยู่ คงด้วยอำนาจของการรักษาพรหมจรรย์ และมนต์พระปริตร ทำให้บ่วงของเราไม่ติดเท้านกยูงทอง

ครั้นนายพรานได้ทราบมูลเหตุดังนั้นแล้ว จึงคิดจะขจัดเครื่องคุ้มครอง ของพญานกยูงทองเสีย นายพรานนั้นจึงเดินทางกลับสู่บ้านของตน แล้วออกไปดัก นกยูงตัวเมียที่มีลักษณะดีในป่าใกล้บ้าน ได้มาหนึ่งตัว แล้วจึงทำการฝึกหัดให้นางนกนั้น รู้จักอาณัติสัญญา เช่น ถ้านายพรานดีดนิ้วมือ นางนกยูงก็จะต้องร้องขึ้น ถ้าปรบมือนางนกยูงก็จะทำการฟ้อนรำขึ้น

เมื่อฝึกสอนนางนกยูง จนชำนิชำนาญดีแล้ว พรานนั้นก็พานางนกยูง เดินทางไปยังที่ที่พญานกยูงทองอาศัยอยู่ แล้วทำการวางบ่วงดักเอาไว้ ก่อนที่พญายูงทองจะเจริญมนต์พระปริตร พรานได้วางนางนกยูงลงใกล้ ๆ กับที่ดักบ่วง แล้วดีดมือขึ้น นางนกยูงก็ส่งเสียงร้องด้วยสำเนียงอันไพเราะจับใจ จนได้ยินไปถึงหูของพญายูงทองโพธิสัตว์

คราที่นั้น กิเลสกามที่ระงับด้วยอำนาจของตบะ และหลบอยู่ในสันดาน ก็ได้ฟุ้งซ่านขึ้นในทันที เสียงนางยูงทองนั้น ทำให้พญายูงทองโพธิสัตว์ มีจิตกระสันฟุ้งซ่านเร่าร้อนไปด้วยไฟราคะ ครอบงำเสียซึ่งตบะ ไม่สามารถมีจิตคิดจะเจริญมนต์พระปริตรสำหรับป้องกันตนได้เลย

พญานกยูงทองโพธิสัตว์ จึงได้ออกจากคูหา แล้วโผผินบินไปสู่ที่ที่นางนกยูงยืนส่งเสียงร้องในทันที ขณะที่มัว แต่สนใจแต่รูปโฉมของนางนกยูง พลันเท้านั้น ก็เหยียบยืนเข้าไปในบ่วงบาศของพรานที่วางดักไว้ บ่วงใด ๆ ที่มิได้เคยร้อยรัด พระมหาโพธิสัตว์ยูงทอง ตลอดเวลา ๗๐๐ ปี บัดนี้พญายูงทองโพธิสัตว์ ได้โดนบ่วงทั้ง สองร้อยรัดสิ้นอิสระเสียแล้ว

บ่วงทั้งสองนั่นก็คือ "บ่วงกาม" และ "บ่วงบาศ"

โอ้หนอ บัดนี้ทุกข์ภัยได้บังเกิดต่อพญานกยูงทองโพธิสัตว์เสียแล้ว เป็นเพราะเผลอสติแท้ ๆ เพราะนางนกยูงตัวนี้เป็นเหตุ จึงทำให้พญายูงทอง มีจิตอันเร่าร้อนไปด้วยกิเลส จนต้องมาติดบ่วงของเรา การที่เรามาทำสัตว์ ผู้มีศีล ให้ลำบากเห็นปานนี้ เป็นการไม่สมควรเลย จำเราจะต้องปล่อยพญานกนี้ไปเสียเถิด แต่ถ้าเราจะเดินเข้าไปปล่อย พญานกยูงทองนั้น ก็จะดิ้นรนจนได้รับความลำบาก เห็นทีเราจะต้องใช้ธนูยิงสายบ่วงนั้นให้ขาด เพื่อพญานกจะได้หลุดจากบ่วง ที่คล้องรัด อยู่ นายพรานคิด

ครั้นนายพรานไพร ผู้มีใจเป็นธรรมคิดดังนั้นแล้ว จึงจัดการนำลูกธนูมาขึ้นพาดสาย แล้วเล็งตรงไปยัง เชือกบ่วงที่ผูกติดกับต้นไม้ เพื่อหมายใจจะให้เชือกขาด

พญานกยูงทองโพธิสัตว์ ครั้นได้แลเห็นนายพรานโก่งคันศร ก็ตกใจกลัว ว่านายพรานจะยิ่งตนตายด้วยลูกศร จึงร้องวิงวอน ขอชีวิตต่อนายพรานว่า ข้อแต่

ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านจับเราเพราะต้องการทรัพย์แล้วหละก็ ขออย่าได้ฆ่าเราเลย จงจับเราเป็น ๆ เอาไปถวายพระราชาเถิด พระราชาจะปูนบำเหน็จให้ท่านอย่างงามทีเดียวหละ

พรานไพรเมื่อได้ฟังนกยูงทองร้องบอกและขอชีวิตดังนั้น จึงกล่าวว่า เรามิได้มีความประสงค์จะฆ่าท่านหรอก การที่เราเล็งศรไปยังท่าน ก็เพียงเพื่อจะยิงเชือกบ่วงให้ขาด เพื่อปล่อยท่านให้เป็นอิสระ

พญานกยูงทองโพธิสัตว์ จึงร้องขอบใจต่อนายพราน พร้อมทั้ง แสดงอานิสงฆ์ของการไม่ฆ่าสัตว์ และผลของการฆ่าสัตว์ ว่าจะได้รับโทษทุกข์ทัณฑ กรรมนานา อีกทั้งชี้แจงให้พรานไพรได้รู้ถึงผลของบุคคลผู้มีมิจฉาทิฐิ ว่ามีโทษทำให้ตนและคนอื่นเดือดร้อน ส่วนผู้มีสัมมาทิฐิ ย่อมมีผลที่ให้เกิดสุขทั้งตนและคนอื่น ทั้งยังได้บอกประโยชน์ของการไม่คบคนพาล คบบัณฑิต และที่สุด พญานกยูงทอง ก็ชี้ให้นายพรานได้เห็นทุกข์ภัยของสัตว์นรก ว่าเกิดจากความเมาประมาทขาดสติ

เมื่อสิ้นสุดธรรมโอวาท พรานนั้นก็ได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกโพธิญาณ ส่วนพญายูงทองก็ได้พ้นจากบ่วงทั้งสอง คือ บ่วงกาม และบ่วงบาศ ที่เกิดจากเครื่องดัก จับ ในขณะที่นายพรานตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็ทำการประทักษิณ แก่พญานกยูงทองโพธิสัตว์ แล้วก็เหาะขึ้นไปบนอากาศ ไปสถิตอยู่ ณ คูหาบนยอดเขานันทมูลคีรี

............................................................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น